โลกแห่งแฟชั่นผม ที่หลายคนมองว่าเป็นโลกแห่งความสวยงาม หรูหราและมีสไตล์สุดแสนฟู่ฟ่า แต่สำหรับผู้ที่ติดตามเรื่องราวต่างๆ ในวงการผมอยู่เสมอ วินาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักช่างทำผมผู้มีจิตอาสาที่ได้รับฉายา “นางฟ้าซาลอน” และเรื่องราวของการช่วยเหลือผู้พิการโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ “คุณกอล์ฟฟี่-ฤชวีพัฒน์ จิราวัฒน์มงคล” ช่างผมเพียงไม่กี่คนในประเทศไทยที่มีโอกาสได้รับเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับตัดผมและเสื้อพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงทอดพระเนตรเห็นและชื่นชมในความดีของเขา จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ Hairworld+ ฉบับนี้มีโอกาสได้ร่วมพูดคุย สัมผัสกับตัวตนของ นางฟ้าแห่งวงการช่างผม ผู้มีความสวยงามจากภายในจิตใจ
HP+ : ตัวตนของคุณกอล์ฟฟี่
คุณกอล์ฟฟี่ : เป็นคนง่ายๆ อัธยาศัยดี เข้ากับคนอื่นได้ง่าย ชอบที่จะพูดคุยกับคนอื่นถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้จักก็ตาม ชอบที่ได้เจอกับเพื่อนใหม่ๆ และได้สร้างสัมพันธภาพใหม่ๆ เสมอ
“กอล์ฟเป็นคนที่มีรอยสักทั้งตัว แค่เดินอยู่ในเขตชุมชนเขา คนก็ตกใจแล้วว่าเราเป็นมิจฉาชีพหรือเปล่า เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จัก แล้วเราก็ยอมรับว่าลักษณะทางกายภาพของเรามันน่ากลัว เราก็เลยใช้ความที่เป็นกะเทยละลายความน่ากลัว “
HP+ : จุดเริ่มต้นของการเป็น “นางฟ้าซาลอน”
คุณกอล์ฟฟี่ : กอล์ฟเรียนเสริมสวยที่ศูนย์ฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง อาจารย์จะพาออกไปฝึกทักษะตามชุมชนต่างๆ กับคนเฒ่าคนแก่ หรือพ่อแม่พี่น้องที่เขาไม่ได้ทำงาน โดยให้เราตัดผมเพื่อจะได้ฝึกทักษะที่เราเรียนมาจากหัวหุ่นมาตัดผมให้คนจริงๆ ต้องยอมรับว่าการตัดผมให้คนจริงๆ มันทำให้เราตื่นเต้น จับปัตตาเลียนด้วยมือสั่นๆ ไม่กล้าที่จะตัด หลังจากที่เราออกไปข้างนอกหลายครั้ง ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาที่กลุ่ม ขอให้อาจารย์ส่งลูกศิษย์ไปตัดผมให้แม่ของเธอที่กำลังไม่สบาย ไม่สามารถออกจากบ้านได้ สิ่งแรกที่กอล์ฟเห็นเมื่อไปถึงบ้านของเธอคือ ผู้หญิงคนหนึ่งที่นอนหายใจรวยรินอยู่บนเตียง สายตาเศร้าหมอง แล้วก็ถูกมัดแขนทั้งสองข้างไว้กับเตียง มีสายที่สอดเข้าไปในจมูก เราไม่รู้ว่าเขาเป็นโรคอะไร ในใจเราคิดว่าไม่กล้าตัดผมให้เขาหรอก เพราะขนาดแค่ตัดผมให้คนปกติ เขานั่งให้เราตัด เรายังตัดให้เขาไม่ได้เลย แต่นี่คือผู้ป่วยนอนติดเตียง เราไม่รู้ว่าจะตัดอย่างไร เพราะเราไม่มีทักษะเลย แต่ก็พยายามทำใจดีสู้เสือ นับหนึ่งถึงสามอยู่ในใจ แล้วก้าวเข้าไปทักทาย “สวัสดีค่ะคุณแม่ วันนี้จะมาตัดผมทำให้คุณแม่สวยๆ เป็นนางแบบแฟชั่นวีคเลยนะคะ” เวลาพูดก็ทำตัวให้ร่าเริงไปด้วย เพราะกอล์ฟเป็นคนที่มีรอยสักทั้งตัว แค่เดินอยู่ในเขตชุมชนเขา คนก็ตกใจแล้วว่าเราเป็นมิจฉาชีพหรือเปล่า เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จัก แล้วเราก็ยอมรับว่าลักษณะทางกายภาพของเรามันน่ากลัว เราก็เลยใช้ความที่เป็นกะเทยละลายความน่ากลัว หลังจากที่เราคุยกับคุณแม่ ซึ่งท่านไม่ได้รับรู้หรอก เพราะท่านเป็นเจ้าหญิงนิทรา แล้วศีรษะของคุณแม่เขาจะมีแผลกดทับ ช้ำเลือดช้ำหนอง แต่เราก็ตัดมือเปล่าจนเสร็จ คุณแม่ก็น้ำตาไหล กอล์ฟก็ตกใจว่าท่านจะเจ็บไหม จึงถามลูกสาว เธอตอบว่าคุณแม่ไม่ได้เจ็บ แต่ดีใจ ที่มีคนแปลกหน้ามาตัดผมให้โดยไม่รังเกียจ ณ วินาทีนั้นทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้น จากแต่เดิมที่เคยคิดมาตลอดว่าการทำความดีหรือทำบุญต้องใช้เงิน แต่การตัดผมให้ผู้พิการในวันนั้นทำให้กอล์ฟคิดได้ว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้เงิน แต่ใช้ใจและความสามารถของเราในการทำบุญได้ นี่จึงเป็นที่มาของการเริ่มทำจิตอาสาของกอล์ฟครับ
HP+ : เหตุผลที่ทำให้คุณกอล์ฟฟี่ยึดมั่นในการทำความดี
คุณกอล์ฟฟี่ : หลังจากกอล์ฟได้ตัดผมให้กับผู้พิการรายแรกด้วยความรู้สึกตื้นตันใจ ทำให้เรามีความรู้สึกว่าการที่เราได้ให้อะไรใคร โดยไม่หวังผลตอบแทน มันเป็นความสุขที่ประเมินค่าไม่ได้ ทำให้กอล์ฟได้ตระหนักว่าประเทศของเรายังมีคนที่ต้องการความช่วยเหลืออีกมาก เพราะฉะนั้นเราจะหยุดไม่ได้ กอล์ฟจึงทำไปเรื่อยๆ และคิดว่าจะทำไปจนกว่าจะทำไม่ไหว
“ในช่วงเวลาที่เราอยู่กับเขาอาจจะแค่ 5-10 นาที หรือครึ่งชั่วโมง นั่นคือโอกาสที่เราจะทำให้เขายิ้ม หัวเราะได้มากที่สุด เพื่อให้เขาลืมความทุกข์ที่เขาได้รับ เพราะใจเขาบอบช้ำมาก กอล์ฟจึงอยากให้เขาหัวเราะให้มากที่สุด ยิ่งทำให้เขายิ้มมากเท่าไหร่ ก็แสดงว่าเขามีความสุขมากเท่านั้น”
HP+ : การเสริมสวยให้กับผู้พิการมีประโยชน์ต่อชีวิตของเขาอย่างไร
คุณกอล์ฟฟี่ : การเสริมสวยเป็นการสร้างพลังใจให้กับผู้พิการ เชื่อไหมว่าในชีวิตคนคนหนึ่งมันจะมีช่วงตกต่ำที่สุดในชีวิต หาทางออกไม่เจอ บางครั้งเขาก็ไม่รู้จะคุยกับใคร แต่การที่เราเข้าไปคุยกับเขา ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีอะไรไปให้เขาเลย มีแต่คำพูดที่บอกว่าให้สู้ต่อไป พร้อมกับการจับมือเขาเอาไว้ ส่งความปรารถนาดี ความห่วงใย จากมือสู่มือ เพียงเท่านี้ก็ทำให้เขาไม่รู้สึกว่าโดนทอดทิ้ง แต่ยังมีใครอีกคนคอยช่วยสร้างพลังและแรงใจให้เขา เวลากอล์ฟไปตัดผมให้ ก็พยายามสร้างรอยยิ้มให้เขา ด้วยการพูดคุยหยอกล้อ เซตผม ออกแบบผม ทาแป้งแต่งหน้าให้เขาดูสดชื่น ในช่วงเวลาที่เราอยู่กับเขาอาจจะแค่ 5-10 นาที หรือครึ่งชั่วโมง นั่นคือโอกาสที่เราจะทำให้เขายิ้ม หัวเราะได้มากที่สุด เพื่อให้เขาลืมความทุกข์ที่เขาได้รับ เพราะใจเขาบอบช้ำมาก กอล์ฟจึงอยากให้เขาหัวเราะให้มากที่สุด ยิ่งทำให้เขายิ้มมากเท่าไหร่ ก็แสดงว่าเขามีความสุขมากเท่านั้น
HP+ : แบ่งเวลาไปเป็นจิตอาสาอย่างไร
คุณกอล์ฟฟี่ : ช่วงแรกยังมีคนรู้จักกอล์ฟไม่มาก เราจะทำงาน 4 วัน และแบ่งเวลาออกไปช่วยเหลือผู้พิการ 3 วัน แต่ ณ ปัจจุบัน พอมีคนรู้จักเรามากขึ้น เวลาทำงานก็จะถูกตัดทอนออกไป เวลาของเราส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยเหลือผู้พิการ โดยทำงาน 3 วัน และช่วยเหลือผู้พิการ 4 วัน นี่คือการแบ่งเวลาโดยที่หลายคนอาจตั้งคำถามว่าทำงานแบบนี้แล้วจะเอารายได้มาจากไหน แต่กอล์ฟคิดว่าตัวเราเองย่อมมีโอกาสมากกว่าผู้พิการ เราไปช่วยเหลือเขาจนเงินเราหมด พอกลับมาเรายังมีงานรออยู่ แต่ผู้พิการเขาไม่มีโอกาสแม้แต่จะสร้างรายได้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเสียสละ
HP+ : ตอนนี้คุณกอล์ฟฟี่มีทีมงานในการทำจิตอาสาด้วยกันมากขึ้นไหม
คุณกอล์ฟฟี่ : ส่วนใหญ่กอล์ฟจะเดินทางคนเดียว เพราะการเดินทางมักจะไม่มีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน ในคณะเดินทางอาจมีคนที่มีหน้าที่ต้องกลับไปรับผิดชอบ ทำให้การเดินทางเป็นหมู่คณะไม่สะดวก และกอล์ฟก็ไม่อยากให้คนที่ติดตามมีแต่ใจที่สงสารผู้พิการอย่างเดียว แต่อยากให้ทุกคนลุกขึ้นมาทำความดี โดยเห็นแรงบันดาลใจจากกอล์ฟฟี่
“อย่าเรียกกอล์ฟฟี่ว่าเป็นเน็ตไอดอล ให้เรียกว่าผู้ให้แรงบันดาลใจ เพื่อให้ทุกคนที่ได้ติดตามนางฟ้าซาลอนลุกขึ้นมาทำความดีตามความสามารถและความถนัดที่ตัวเองมี งัดความสามารถของเราออกมา แล้วนำความสามารถของเราไปช่วยกันดูแลสังคม”
HP+ : ช่วงที่มีชื่อเสียงแล้วมีคนมาทัก รู้สึกอย่างไร
คุณกอล์ฟฟี่ :กอล์ฟดีใจมาก ไม่ใช่ดีใจที่ตัวเองโด่งดัง แต่ดีใจเพราะคิดว่าคนที่มาทักเรา เขาจะต้องเป็นคนดี เพราะว่าเราเป็นคนที่ทำความดี คนที่ติดตามเรา ก็ย่อมต้องชอบทำความดีเหมือนเราด้วย ทำให้กอล์ฟรู้สึกว่าประเทศไทย ยังมีคนดีและคนที่ชอบทำความดีอีกมาก ยิ่งมีคนติดตามกอล์ฟมากขึ้นเท่าไหร่ ก็แสดงว่าคนที่ชอบทำความดี ย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น
HP+ : รู้สึกอย่างไรที่มีคนทำความดีตามเรา
คุณกอล์ฟฟี่ :ดีใจและประทับใจมาก เพราะกอล์ฟคิดว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องตาย แต่ช่างทำผมมีอยู่ทุกซอย ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ถ้าในแต่ละพื้นที่มีช่างผมที่ลุกขึ้นมาช่วยกันทำความดี เชื่อว่าผู้พิการทั่วประเทศจะต้องดีใจมากๆ เพราะกอล์ฟเองคงไม่มีทางไปดูแลผู้พิการได้ทุกคนในประเทศไทย แต่ช่างเสริมสวยทุกคนสามารถลุกขึ้นมาแล้วก็ช่วยกันดูแลผู้พิการได้
HP+ : 8 ปีในการเป็นจิตอาสา มีช่วงที่เหนื่อยหรือท้อไหม
คุณกอล์ฟฟี่ : ช่วงที่ท้อมากๆ ไม่ได้ท้อเพราะว่าเดินทางไปช่วยเหลือผู้พิการ แต่เป็นความท้อที่เกิดจากการโดนดูหมิ่นดูแคลนในการทำความดีของเรา ซึ่งเราก็เป็นคนเหมือนกัน มีความรู้สึกโกรธ เสียใจ น้อยใจเป็น กอล์ฟโดนพูดดูถูกว่าทำความดีเพื่อสร้างภาพ ซึ่งคำพูดเหล่านี้เป็นคำพูดที่มาจากคนที่เรารู้จัก เมื่อเขาเห็นเราทำความดี เขากลับไม่สนับสนุน ซ้ำยังใช้คำพูดดูแคลนว่ากอล์ฟทำดีเพราะอยากดัง แต่ในเมื่อคนที่ลงมือทำเป็นเรา และคนที่ได้รับเป็นผู้พิการ เราทำแล้วผู้พิการมีความสุข เราก็มีความสุขไปด้วย มันมีแต่วิน-วิน ส่วนคนที่ใช้คำพูดดูหมิ่นดูแคลนเราก็ได้แต่อโหสิกรรมกันไป แล้วก็ใช้ชีวิตของเราตามปกติ แต่โดยส่วนตัวกอล์ฟคิดว่าถ้าภาพที่เราสร้างมันเป็นภาพที่สวยงาม สังคมมีแต่ความสุข สร้างแล้วทำให้เกิดแรงบันดาลใจกับใครหลายๆ คน ให้ลุกขึ้นมาทำความดี เราก็ต้องสร้างแบบนี้ต่อไป แล้วก็อยากจะเชิญชวนทุกคนมาทำความดี ถึงแม้ว่าจะเป็นการสร้างภาพ แต่ว่าเป็นการสร้างภาพที่ดี เราก็ควรสร้างภาพแบบนี้ตลอดไป
ตลอดการสนทนา สิ่งที่เราสัมผัสได้คือความปรารถนาดีที่เอ่อล้นมาจากดวงตา หลากหลายประโยคทำให้เราย้อนตระหนักถึงคุณค่าที่แท้จริงในฐานะมนุษย์ธรรมดาผู้มีเพียงสองมือและหนึ่งแรงใจ หากทบทวนนิยามของอาชีพ “ช่างเสริมสวย” นั้น หมายถึงการเสริมความงามภายนอกเพียงอย่างเดียวหรือ? หรือเส้นทางของคุณกอล์ฟฟี่ที่เสริมความงามในจิตใจด้วยอาจเป็นอีกคำตอบหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง…เชื่อว่าหลังจากอ่านบทสัมภาษณ์นี้ หลายคนคงได้ขบคิดว่าคุณค่าของการให้และการส่งต่อคือสิ่งใด อย่างที่คุณกอล์ฟฟี่ทำมาตลอด 8 ปีเต็มและตั้งใจจะทำต่อไปตราบจนหมดกำลัง…และนี่คือหนึ่งวันอันงดงามของเรา กับ คุณกอล์ฟฟี่-ฤชวีพัฒน์ จิราวัฒน์มงคล หรือ นางฟ้าซาลอน