เดือนสิงหาคมของทุกปีมีวันสำคัญของไทยคือ “วันแม่แห่งชาติ” ตรงกับวัน 12 สิงหาคม ซึ่งวันนี้ถือตามวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 โดยเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2519 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกทุกคนได้รำลึกถึงพระคุณของแม่
แต่รู้หรือไม่ว่าคำว่า “แม่” ในภาษาต่างๆ ที่เรียกแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่แล้วมักออกเสียงขึ้นต้นด้วย “ม.ม้า” หรือตัว “M” ในภาษาอังกฤษแทบทั้งนั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะตามหลักทฤษฏีด้านภาษาศาสตร์ “ม” หรือ “M” เป็นพยัญชนะที่เป็นหน่วยเสียงซึ่งออกเสียงได้ง่ายของมนุษย์ ภาษาไทยเราเรียกฐานที่เกิดเสียงนี้ว่า ฐานโอษฐชะ คือเสียงที่ขณะเปล่งออกมาจะต้องมีการเม้มริมฝีปาก แล้วจึงเปล่งเสียง ซึ่งถือเป็นการเปล่งเสียงตามธรรมชาติที่ง่ายดายที่สุดสำหรับเด็กเเรกเกิดนั่นเอง
เนื่องในวันแม่ปีนี้ Hairworld Plus Magazine ขอรวบรวมคำเรียก “แม่” ที่เป็นตัวอักษร “M” จากหลากหลายภาษาทั่วโลกมาฝากกันค่ะ
– คนไทย เรียกว่า “แม่”
– ภาษาลาว เรียกว่า “อีแม”
– คนเวียดนาม เรียกว่า “แม๊”
– ภาษาอังกฤษ เรียกว่า “มาเธอร์ (Mother)” หรือ “มัม (Mom)”
– ภาษาบาลี เรียกว่า “มาตา”
– ภาษาสันสกฤต เรียกว่า “มารดา”
– คนจีน เรียกว่า “ม่าม้า” (แต้จิ๋ว) จีนกลางอ่านว่า “มาหมะ”
– ภาษาเยอรมัน เรียกว่า “มุสเธอร์ (Mutter) หรือ “มาม้า (Mama)”
– คนแขก เรียกว่า “มามี้”
– คนฝรั่งเศส เรียกว่า “มามอง (Maman)”
– คนสเปนและอิตาลี เรียกว่า “มาเดร (Madre)”
– คนแถบสแกนดิเนเวีย (เดนมาร์ก, นอร์เวย์, สวีเดน) เรียกว่า “มัวร์ (Mor, Moder)”
– คนเกาหลี เรียกว่า “ออมม่า”
– คนโปรตุเกส เรียกผู้ให้กำเนิดว่า “แมะ (Mae)”
– ชาวกัมพูชา เรียกว่า “กุนแม”
– ภาษามาเลย์ เรียกว่า “มาม่า”
– ภาษาอาหรับ เรียกว่า “อุมมี”
– ชนเผ่าปกากะญอ เรียกว่า “โม่”
– ชนเผ่าอาข่า เรียกว่า “อะมา”
ถึงแม้แต่ละประเทศจะมีคำเรียก “แม่” แตกต่างกันไป แต่เชื่อว่าคำนี้มีความหมายที่สุดสำหรับลูกๆ ทุกคนไม่ว่าจะเชื้อชาติใดหรืออยู่ในประเทศไหนก็ตาม
Credit : hilight.kapook, mumraisin.com, pinterest